สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) โปรดให้สร้างเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนให้มีป้อมปราการ สำหรับป้องกันรักษาราชอาณาจักรหลายเมือง เช่นนครศรีธรรมราช พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น จึงให้ย้ายเมืองที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาสร้างเป็นเมืองมีป้อมปราการและคูล้อมรอบขึ้นใหม่ ในที่ซึ่งอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วเอานามเมืองเดิมทั้งสอง คือ เมืองเสมา กับ เมืองโคราฆะปุระ มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า เมืองนครราชสีมา แต่คนทั้งหลายคงยังเรียกชื่อเมืองเดิมติดปากอยู่ จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า เมืองโคราช เมืองนี้กำแพงก่อด้วยอิฐมีใบเสมาเรียงรายตลอดมีป้อมตามกำแพงเมือง ๑๕ ป้อม ประตู ๔ ประตู สร้างด้วยศิลาแลงมีชื่อดังต่อไปนี้
ทางทิศเหนือ ชื่อประตูพลแสน นัยหนึ่งเรียกประตูน้ำ
ทางทิศใต้ ชื่อประตูไชยณรงค์ นัยหนึ่งเรียกประตูผี
ทางทิศตะวันออก ชื่อประตูพลล้าน นัยหนึ่งเรียกประตูตะวันออก
ทางทิศตะวันตก ชื่อประตูชุมพล
ประตูเมืองทั้ง ๔ แห่งนี้มีหอรักษาการอยู่ข้างบนทำเป็นรูปเรือน (คฤห) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันทุกแห่ง แต่ปัจจุบันคงเหลือรักษาไว้เป็นแบบอย่างแห่งเดียวเท่านั้น คือประตูชุมพล ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีสงวนรักษาไว้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ นอกนั้นทั้งประตูและกำแพงเมืองได้ถูกรื้อสูญหมดแล้ว
ในหนังสือเที่ยวตามทางรถไฟพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง-ราชานุภาพ เล่าถึงตำนานเมืองว่า
ในทำเนียบครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมา มีเมืองขึ้น ๕ เมือง คือเมืองนครจันทึก อยู่ทางทิศตะวันตก เมือง ๑ เมืองชัยภูมิ อยู่ทางทิศเหนือ เมือง ๑ เมืองพิมายอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมือง ๑ เมืองบุรีรัมย์ อยู่ทางทิศตะวันออก เมือง ๑ เมืองนางรอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมือง ๑ ต่อมาตั้งเมืองเพิ่มขึ้นอีก ๙ เมือง คือ ทางทิศเหนือ ตั้งเมืองบำเหน็จณรงค์ ๑ เมือง จัตุรัส ๑ เมือง เกษตรสมบูรณ์ ๑ เมือง ภูเขียว ๑ เมือง ชนบท ๑ เมือง รวม ๕ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งเมืองพุทไธสง ๑ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเมืองประโคนชัย ๑ เมือง รัตนบุรี ๑ เมือง ทางทิศใต้ ตั้งเมืองปักธงชัย ๑ เมือง เมืองนครราชสีมา จึงมีเมืองขึ้น ๑๔ เมืองด้วยกัน เมื่อสร้างเมืองใหม่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงเลือกสรรข้าราชการที่เป็นคนสำคัญออกไปครอง ปรากฏว่าโปรดให้พระยายมราช (สังข์) ไปครองเมืองนครราชสีมาพร้อมกับโปรดให้พระยารามเดโช ไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเมืองอื่นหาปรากฏนามผู้ไปครองเมืองไม่ ครั้นสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระยายมราชและพระยารามเดโช ไม่ยอมเป็นข้าพระเพทราชา ต่างตั้งแข็งเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นด้วยกัน กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกขึ้นไปทางดงพระยาไฟ พระยายมราชต่อสู้รักษาเมืองนครราชสีมาอยู่ได้พักหนึ่ง แต่สิ้นกำลังต้องหนีไปอยู่กับพระยารามเดโช ณ เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งกองทัพกรุง ฯ ลงไปตีเมืองนครราชสีมาได้ในครั้งพระยายมราช (สังข์) ตั้งแข็งเมืองนั้น คงกวาดต้อนผู้คนและเก็บเครื่องศัตราวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับรักษาเมืองนำมาเสียโดยมาก โดยหวังจะมิให้มีผู้คิดแข็งเมืองได้อีก ต่อมาในรัชกาลนั้นเอง มีลาวชาวหัวเมืองตะวันออกคนหนึ่ง ชื่อบุญกว้าง ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษกับพรรคพวกเพียง ๒๓ คน กล้าเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมาพักอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่งนอกเมือง แล้วให้พระยานครราชสีมาคนใหม่ออกไป พระยานครราชสีมาขี่ช้างออกไป (เดิมเห็นจะตั้งใจออกไปจับ) ครั้นถูกอ้ายบุญกว้างขู่ พระยานครราชสีมากลับครั่นคร้าม (คงเป็นเพราะพวกไพร่พลพากันเชื่อวิชาอ้ายบุญกว้าง) เห็นหนีไม่พ้นต้องยอมเป็นพรรคพวกอ้ายบุญกว้าง แล้วลวงให้ยกลงมาตั้งซ่องสุมผู้คนที่เมืองลพบุรี พระยานครราชสีมาเป็นไส้ศึกอยู่จนกองทัพกรุง ฯ ยกขึ้นไปถึง จึงจับตัวอ้ายบุญกว้างกับพรรคพวกได้
เห็นจะเป็นเพราะที่เกิดเหตุคราวนี้ ประกอบกับที่การรบในกรุง ฯ เป็นปกติสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว จึงกลับตั้งกำลังทหารขึ้นที่เมืองนครราชสีมาดังแต่ก่อน ต่อมาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าเมืองหลวงพระบางยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ขอให้กรุงศรีอยุธยาช่วย จึงโปรดให้พระยาสระบุรีเป็นนายทัพหน้า ให้พระยานครราชสีมา (ซึ่งเข้าใจว่าตั้งใหม่อีก ๑ คน) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปช่วยเมืองเวียงจันทน์ กองทัพยกขึ้นไปถึง พวกเมืองหลวงพระบางก็ยำเกรง เลิกทัพกลับไป หาต้องรบพุ่งไม่ แต่นี้ไปก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองนครราชสีมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร จนแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง ปรากฏว่าเกณฑ์ของกองทัพเมืองนครราชสีมาลงมาช่วยป้องกันรักษากรุง ฯ เดิมให้ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเจดีย์แดงข้างใต้เพนียด แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ คุมลงมารักษาเมืองธนบุรี ครั้นกองทัพพม่ายกมาจากเมืองสมุทรสงครามเมื่อเดือน ๑๐ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยารัตนาธิเบศร์หนีกลับขึ้นไปกรุงฯ พวกกองทัพเมืองนครราชสีมาเห็นนายทัพไม่ต่อสู้ข้าศึก ก็พากันกลับไปบ้านเมืองหาได้รบพุ่งกับพม่าไม่ต่อมาเมื่อพม่ากำลังตั้งล้อมพระนครศรีอยุธยา ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมาอีกตอนหนึ่ง เหตุด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นโทษต้องเนรเทศไปอยู่ ณ เมืองจันทบุรี ชักชวนพวกชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพมาหวังจะมารบพม่าแก้กรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธมาถึงเมืองปราจีนบุรี ให้กองทัพหน้ามาตั้งปากน้ำโยธกา แขวงจังหวัดนครนายก พม่ายกไปตีกองทัพหน้าแตก กรมหมื่นเทพพิพิธ เห็นจะสู้พม่าไม่ได้ ก็เลยขึ้นไปทางแขวงเมืองนครราชสีมา ไปตั้งที่ด่านโคกพระยาพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก กับหลวงนรินทร์ (ซึ่งได้เข้าเป็นพวกกรมหมื่นเทพพิพิธ) ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครจันทึกอีกพวกหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธคิดจะชักชวนพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพลงมารบพม่า แต่พระยานครราชสีมาคนนั้นเป็นอริอยู่กับพระพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก แต่งคนร้ายให้มาลอบฆ่าพระพิบูลสงครามกับหลวงนรินทร์เสีย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ลอบไปฆ่าพระยานครราชสีมาเสียบ้าง แล้วเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นหลวงแพ่ง น้องพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองพิมายไปเกณฑ์คนยกกองทัพมาจับกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมตัวไว้ที่เมืองพิมาย ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ สิ้นราชวงศ์ที่จะครองพระราชอาณาจักรบ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ผู้มีกำลังฝีมือหวังจะเป็นใหญ่ในประเทศไทยต่อไป ก็คิดตั้งเป็นเจ้ามีรวมด้วยกัน ๕ พรรคคือ
๑. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีหัวเมืองอยู่ในอำนาจตั้งแต่ชายแดนกรุงกัมพูชาขึ้นมาจนถึงเมืองชลบุรี และต่อมาถึงข้างขึ้นเดือน ๑๒ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ยกกองทัพขึ้นมาโจมตีทหารพม่าซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองธนบุรี กับค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา พม่าพ่ายแพ้จนหมดสิ้น แล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
๒. เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิษณุโลกมีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาถึงเมืองนครสวรรค์
๓. พระสังฆราชา (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นทั้งยังอยู่ในสมณเพศ เรียกกันว่าพระฝาง มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่อยู่ข้างเหนือเมืองพิชัย และติดต่อกับแดนเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง
๔. พระปลัด (เข้าใจกันว่าชื่อหนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า เจ้านคร มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่ติดต่อกับชายแดนมลายูขึ้นมาจนถึงเมืองชุมพร
๕. กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งพระยาพิมายคุมไว้ที่เมืองพิมาย และยกขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองนั้น เรียกว่าเจ้าพิมาย มีอำนาจปกครองตลอดอาณาเขตของนครราชสีมา เช่น เมืองจันทึก ปักธงชัย บุรีรัมย์
พุทไธสง ชัยภูมิ และภูเขียว เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น