ประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในสมัยขอมในสมัยโบราณเป็นเมืองชั้น "เจ้าพระยามหานคร" ในปัจจุบันก็ยังคงมีความสำคัญ กล่าวคือ เป็นปากประตูสู่ภาคอีสาน และเป็นชุมทางคมนาคมสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง ๑๖ จังหวัดในภาคอีสานอีกด้วย
นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในอาณาจักรไทย เดิมทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๓๑ กิโลเมตร มีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือเมือง "โคราช" หรือ "โคราฆะปุระ" กับเมือง "เสมา" ทั้ง ๒ เมืองโบราณดังกล่าวเคยเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยขอม ปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมฝั่งลำตะคอง
เมืองเสมา ตั้งอยู่ฝั่งใต้ลำตะคอง มีเนินดินกำแพงเมืองและคูเมืองทั้ง ๔ ด้านตัวกำแพงสร้างด้วยแลง ยังมีเหลือซากอยู่บ้าง ภายในเมืองมีสระและบึงใหญ่น้อยอาศัยใช้น้ำได้ตลอดปี มีโบราณวัตถุสมัยทวารวดีขนาดใหญ่แสดงอายุของเมืองนี้ ๒ อย่าง คือ พระพุทธรูปทำด้วยศิลา เล่ากันว่าแต่แรกตั้งยืนอยู่โดดเดี่ยว แล้วถูกฉุดลากล้มลงแตกหักยับเยิน ต่อมามีผู้เกิดความสังเวช เก็บรวมประกอบเป็นองค์พระวางนอนไว้ จึงเรียกกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไป อีกอย่างเป็นธรรมจักรศิลาขนาดวัดผ่าศูนย์กลางราว ๑.๕๐ เมตร เวลานี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคลองขวาง ตำบลเสมา ห่างจากถนนมิตรภาพประมาณ ๙-๑๐ กิโลเมตร
เมืองโคราฆะปุระ ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือลำตะคอง ในตำบลโคราช ห่างจากเมืองเสมา ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร หรือห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปราว ๒-๓ กิโลเมตร ในบริเวณเมืองมีปราสาทหินย่อม ๆ ๒-๓ แห่ง แห่งหนึ่งเคยตรวจพบศิวลึงค์ศิลา ขนาดยาว .๙๒/ .๒๘ เมตร กับศิลาทับหลังประตูจำหลักลายเป็นรูปพระอิศวรประทับยืนบนหลังโคอุศุภราช จึงน่าเชื่อว่าปราสาทหินหลังนี้อาจสร้างเป็นเทวสถานฝ่ายนิกายไศวะ เมืองนี้ในสมัยหนึ่งคงเป็นเมืองสำคัญ ตั้งรักษาเส้นทางที่ลงมายังแผ่นดินต่ำทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เพราะอยู่ในที่ร่วมของเส้นทางเดินทางช่องดงพระยาไฟกับดงพระยากลาง
ที่หน้าอำเภอสูงเนินมีศิลาจารึกเป็นภาษาสันสฤตกับภาษาขอมแผ่นหนึ่งหักเป็น ๒ ท่อน เดิมอยู่ที่หมู่บ้านบ่ออีกาในเขตเมืองเสมา เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันอายุของเมืองในอำเภอสูงเนิน เนื้อความในจารึกเล่าถึงพระเจ้าศรีจนาศ (หรือ ศรีจนาเศศวร) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๑๔๑๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น